เซ็นทรัล นครสวรรค์ เป็นศูนย์การค้าอีกหนึ่งแห่งจากเซ็นทรัลพัฒนาที่เพิ่งเปิดตัวพร้อมแผนพัฒนาโครงการ mixed-use ซึ่งมีทั้งโรงแรม คอนโดมิเนียม โรงพยาบาล และลานกิจกรรมให้กับคนในชุมชนบนพื้นที่เดียว ในจังหวัดที่เป็นเสมือนรอยต่อระหว่างภาคกลางและภาคเหนือ หากใครมักคุ้นกับการขับรถขึ้นเหนือเพื่อกลับบ้านหรือท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลก็คงต้องเคยแวะเวียนมาที่จังหวัดนครสวรรค์ ความเป็นเมืองรองนี้เองที่ทำให้เซ็นทรัลพัฒนาเล็งเห็นความเป็นไปได้ของการรวบรวมกลุ่มคน ทั้งผู้คนจากในพื้นที่และจากจังหวัดข้างเคียง รวมถึงคนที่เดินทาง ได้มาใช้เวลาอยู่ที่นครสวรรค์มากกว่าเป็นแค่จุดพักรถ
สำหรับสถาปนิกในส่วนอาคารศูนย์การค้าเซ็นทรัล นครสวรรค์ ก็ได้ IF (Integrated Field) มาเป็นผู้รับหน้าที่ออกแบบ โดยเริ่มตั้งแต่การวางผังอาคารบนที่ดินขนาด 42 ไร่ ด้วยรูปร่างของที่ดินซึ่งถือว่ามีหน้ากว้างฝั่งถนนใหญ่ค่อนข้างแคบเมื่อเทียบกับขนาดของอาคารกว่า 133,300 ตร.ม. การร่นระยะอาคารเข้ามาเพื่อให้เกิดสเปซมากพอที่จะลดแรงปะทะของเมืองกับ mass อาคารขนาดใหญ่จึงเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นสิ่งที่ทาง IF คำนึงถึงเป็นข้อแรก
การร่นระยะอาคารเข้ามายังช่วยเปิดพื้นที่ให้ประสาทสัมผัสของผู้ใช้งานได้รับ first impression จากภาพอาคารที่สมบูรณ์ ทั้งฟอร์ม ความกว้าง และความสูง ซึ่งสถาปนิกได้ออกแบบให้อาคารด้านหน้ามีความสูงลดหลั่นลงมาจากส่วนหลัก ทำให้เซ็นทรัล นครสวรรค์สามารถเชื่อมต่อสเกลของมนุษย์เข้ากับสเกลอาคาร ทั้งในเชิงกายภาพและความรู้สึก
สิ่งที่ตามมาคือพื้นที่ว่างกว้างขวางหน้าอาคาร Shma SoEn ผู้รับหน้าที่ออกแบบแลนด์สเคปให้โครงการ จึงดีไซน์ให้บริเวณนี้เป็นลานกิจกรรมกลางแจ้งของคนในพื้นที่ ที่ค่อยๆ ไล่ระดับขึ้นไปสู่ตัวศูนย์การค้า ประกอบด้วยลานอีเวนต์ สวนสำหรับสัตว์เลี้ยง พื้นที่เด็กเล่น และทางวิ่ง นอกจากนี้ลานกิจกรรมกลางแจ้งก็มีต้นไม้ใหญ่ที่เก็บรักษาไว้จากไซต์เดิมคอยให้ร่มเงา โดยตัวโครงการสามารถเก็บรักษาไม้ใหญ่ไว้ได้กว่าร้อยต้น หรือหากใครทนอากาศร้อนของประเทศไทยไม่ไหวก็มี covered way ให้เดินตัดตรงเข้าศูนย์การค้าได้เลยเช่นกัน
ผังของศูนย์การค้าแห่งนี้วางตัว Central Department Store (CDS) อยู่ตรงกึ่งกลางและมี circulation กับรีเทลโอบล้อมอยู่รอบนอก เกิดเป็น loop ตามหลักการออกแบบของศูนย์การค้าทั่วไป ปกติแล้วศูนย์การค้าอื่นๆ ที่วางตัวเป็นแนวยาวจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงทางเดินยาวและไม่ติดกับร้านค้าขนาดใหญ่ ทำให้มีช่วงที่ขาดจุดดึงดูดบ้าง ทว่าสำหรับเซ็นทรัล นครสวรรค์ที่ออกแบบเป็น loop รอบ CDS จึงสามารถกระจายร้านค้าใหญ่ไปตามแต่ละมุมของอาคารได้ครบถ้วน การเดินภายในศูนย์การค้าจึงไม่มีมุมเงียบเหงา และทางเดินที่เป็นทางตัน
ยิ่งไปกว่านั้น ประเภทร้านค้าในแต่ละโซนจะได้รับการคำนึงถึงความเชื่อมโยงกับอาคารอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย อาทิ ศูนย์อาหารและซูเปอร์มาร์เก็ตจะวางตัวอยู่บนฝั่งที่ใกล้โรงพยาบาล ส่วนร้านข้าวของเครื่องใช้ในบ้านและ home decoration ต่างๆ ก็จะอยู่บนฝั่งที่ใกล้กับโปรเจ็กต์คอนโดมิเนียมและโรงแรม
เมื่อเข้ามาจากหน้าศูนย์การค้าจะพบกับต้นไม้ใหญ่ยืนต้นตระหง่านอยู่กลางพื้นที่ double space ที่ทำหน้าที่คล้ายจุดพักคอยให้ทั้งคนที่เดินเข้ามาและคนที่ขึ้นมาจากลานจอดรถชั้นล่าง โดยผู้ออกแบบลดทอนสเกลของเสาต้นใหญ่ที่สูงชะลูดขึ้นไปถึงหลังคาด้วยองค์ประกอบต่างๆ รวมถึงร้านค้าแบบ kiosk เพื่อให้พื้นที่ดูไม่ใหญ่โตเกินไป จากนั้นจึงเข้าสู่โซน retails ซึ่งต้อนรับเราด้วยสเปซที่เปิดให้ทุกคนสามารถชม dynamic ของพื้นที่ศูนย์การค้า ผ่านช่องเปิดที่เผยให้เห็น display window ทั้ง 3 ชั้นของส่วน CDS ตรงใจกลางอย่างสวยงาม
แม้ในเชิงผังของเซ็นทรัล นครสวรรค์นั้นจะมีลักษณะเหมือนกันทุกชั้น แต่สถาปนิกก็เพิ่มลูกเล่นให้แต่ละคอร์ท (ช่องเปิด) ทั้ง 6 คอร์ท ที่กระจายตัวกันอยู่ทั่วเส้นทางสัญจรผ่านการเสริมเอกลักษณ์เข้าไปในแต่ละพื้นที่ โดยมีรูปแบบหลักๆ คือการย่อมุมพื้นชั้นบนให้ดูบางลง ร่วมกับการเลือกใช้ราวกันตกสีอ่อนเพื่อลดความรู้สึกทึบตัน ซึ่งบางคอร์ทก็มีระเบียงยื่นที่ตกแต่งอย่างสวยงาม หรือบางคอร์ทก็ใช้สีแดงเตะตาตกแต่งทั้งหมดตั้งแต่ชั้นล่างถึงชั้นบนอย่าง ‘คอร์ทโรงภาพยนตร์’
จากทำเลที่ตั้งในนครสวรรค์ซึ่งมีจุดเด่นคือปากน้ำโพและชุมชนชาวจีนหลายภาษาที่อยู่ร่วมกัน แน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้ ย่อมปรากฏสู่หน้าตาของอาคารไม่มากก็น้อย เส้นโค้งและสัดส่วนของหลังคาในสถาปัตยกรรมจีนคือองค์ประกอบที่สถาปนิกเลือกนำมาใช้งาน เพื่อลดทอนสเกลอาคารให้ดูอ่อนช้อยและเชื่อมต่อสเปซทางด้านหน้าอาคาร ไปจนถึงรายละเอียดเล็กๆ ภายในอย่างจังหวะซี่ของราวจับ หรือระบบสัญลักษณ์ที่ใช้บนป้ายที่ทีม InFO เป็นผู้ออกแบบ นอกจากนี้คือการใช้กระเบื้องจีนมาสร้างจุดเด่นบริเวณผนังด้านทางเข้ารอง
การที่สถาปนิกใช้ ‘หลังคา’ มาควบคุมทิศทางการออกแบบของศูนย์การค้า เป็นการเลือกนำสัญลักษณ์ที่เข้าใจได้ง่ายและ สามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลายโดยไม่ต้องนำเสนอความเป็นชุมชนชาวจีนแบบตะโกน มาทำงานร่วมกับความคิดและจินตนาการของผู้ใช้งานเอง
คอนเซ็ปต์ของปากน้ำโพเองก็ไม่ได้ถูกปิดบทบาทลงอย่างห้วนสั้น หากลองสังเกตดีๆ ระหว่างเดินจับจ่ายใน ชั้นหนึ่งก็จะพบว่าที่พื้นใต้เท้าเรา ศูนย์การค้าได้แบ่งโซนออกเป็น 2 ฝั่งตามสีกระเบื้อง โดยกระเบื้องสีเขียวเป็นตัวแทนของแม่น้ำสาย ‘ปิง-วัง’ และกระเบื้องสีแดงเป็นตัวแทนของสาย ‘ยม-น่าน’ ในชั้นนี้จึงถือว่ามีแม่น้ำครบทั้ง 4 สายที่มาบรรจบกันในปากน้ำโพ หรือบริเวณคอร์ทแรกสุดที่ตกแต่งด้วยสีเขียวและสีแดงผสานกัน ที่ที่ทุกคนจะได้พบเจอเป็นแห่งแรกหลังผ่าน double space มานั่นเอง สุดท้ายจึงเกิดเป็นอาคารที่นำเสนอการดำรงอยู่ของชุมชนชาวจีนในพื้นที่ปากน้ำโพ และยังคงเป็นมิตรกับผู้ใช้งานทุกคนตามคอนเซ็ปต์ของเซ็นทรัลพัฒนา